ประเด็นร้อน

'CG Code'ฉบับใหม่มุ่งสร้างคุณค่าให้กิจการยั่งยืน

โดย ACT โพสเมื่อ May 22,2017

 จากกรณีที่โตชิบาถูกเปิดโปงเรื่องการตกแต่งบัญชีนานถึง 7 ปี จึง ทำให้บริษัทมีผลกำไรเกินจริงกว่า 1,220 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ผู้บริหาร ระดับสูงของบริษัทหลายคน รวมทั้งประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร ต้องรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่ง

          
หรือกรณีของโฟล์คสวาเกนที่มีปัญหาการทุจริตใช้ซอฟต์แวร์โกงค่าการทดสอบปล่อยไอเสียในรถกว่า 11 ล้านคัน ซึ่งทำให้ ภายในเวลาเพียง 2 วัน หลังจากถูกเปิดโปง มูลค่าหุ้นของบริษัทลดลงกว่า 1 ใน 3 ทั้ง ยังทำให้ประธานผู้บริหารของบริษัทลาออก จากตำแหน่ง เพื่อรับผิดชอบกับกรณีดังกล่าว แม้เขาเองจะออกมาบอกว่า ไม่มีส่วนรู้เห็นในการทุจริตที่เกิดขึ้นก็ตาม
          
และล่าสุด กรณีที่โรลส์-รอยซ์ถูกสอบสวนพบว่า มีการติดสินบนแก่เจ้าหน้าที่ในหลายประเทศ โดยเฉพาะ 2 รัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ ของประเทศไทย คือ บมจ.การบินไทย และ บมจ.ปตท.-บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ตลอดจนกรณีที่ บริษัท เจเนอรัล เคเบิล คอร์ปอเรชั่น จำกัด มีการอ้างว่าติดสินบน เจ้าหน้าที่รัฐในหลายประเทศ รวมถึง ประเทศไทย และเช่นเดียวกันกับกรณีไบโอ-ราด แลบบอราทอรี่ส์ ที่ยอมจ่ายค่าปรับในคดี สินบน ที่มีการจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่รัฐใน หลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย
          
จากกรณีดังกล่าวที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมด นั้น สะท้อนให้เห็นถึงการขาดธรรมาภิบาล ในการดำเนินธุรกิจ และแม้ว่าในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย จะมีการกำหนด หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance Code : CG Code) ที่ใช้ในการบริหารกิจการก็ตาม แต่กระนั้นก็ทำให้เห็นว่า ข้อกำหนดหรือกฎเกณฑ์บางประการอาจไม่เพียงพอ และครอบคลุมกับการดำเนินธุรกิจในทุกมิติ
          
ทั้งนี้ จากการประเมินทิศทางความ รับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ภายใต้รายงานที่มีชื่อว่า "6 ทิศทาง CSR ปี 2560 : Articulating 'Global Goals' to 'Local Impacts'" ของสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีการระบุว่า ปี 2560 จะเป็นปีแห่งความท้าทายในเรื่องการ ขับเคลื่อนธรรมาภิบาลของภาคธุรกิจ ทั้งแก่หน่วยงานกำกับดูแล และองค์กรธุรกิจผู้ปฏิบัติ ที่ต้องยกระดับการดำเนินงานด้านธรรมาภิบาล จากการพัฒนาที่เน้นรูปแบบ (Form) มาสู่การให้ความสำคัญกับเนื้อหา (Substance) เพื่อลดช่องว่างระหว่างการมีเจตนาที่ดี (Good Intentions) ไปสู่การกระทำที่ดี (Good Actions) ให้เห็นผลจริงในทางปฏิบัติ
          
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีการออก CG Code สำหรับบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ฉบับใหม่ เพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับคณะกรรมการ บริษัทในการปฏิบัติหน้าที่ โดยมุ่งเน้น บทบาทการเป็นผู้นำองค์กร ที่จะนำธุรกิจไปสู่การเติบโตด้วยการสร้างคุณค่ากิจการอย่างยั่งยืน
          
โดย CG Code ฉบับใหม่จะเป็นหลักปฏิบัติสำหรับคณะกรรมการบริษัท ที่มุ่งหวังให้กิจการมี ผลประกอบการที่ดี โดยคำนึงถึงความต่อเนื่องในระยะยาว มี ความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น ผู้ที่เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สังคม สิ่งแวดล้อม ทั้งยังสามารถปรับตัวได้ภายใต้การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ
          
สำหรับบทบาทความเป็นผู้นำของคณะกรรมการตาม CG Code นี้ จะครอบคลุมตั้งแต่ 1) การกำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมาย ของกิจการที่เป็นไปเพื่อสร้างคุณค่าให้กิจการ อย่างยั่งยืน 2) การดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย ด้วยการมีคณะกรรมการที่ เอื้อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ดูแลและพัฒนา ผู้บริหารและบุคลากรให้มีความสามารถ ส่งเสริมนวัตกรรมและการประกอบ ธุรกิจอย่างรับผิดชอบ และ 3) การติดตามและเปิดเผยข้อมูลโดยดูแลให้มี ระบบควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยง ที่เหมาะสม การรักษาความน่าเชื่อถือทาง การเงินและการเปิดเผยข้อมูล ตลอดจนการ มีส่วนร่วมและการสื่อสารกับผู้ถือหุ้น
          
"ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ" ผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า CG Code เกิดจากความสัมพันธ์ที่ต้องการให้เกิดความสำเร็จระหว่างผู้ถือหุ้น และบริษัท ที่มีเงื่อนไขความรับผิดชอบประกอบอยู่ โดยเฉพาะบริษัทมหาชน ที่แบ่งส่วนกันระหว่างผู้ถือหุ้น ที่เป็นนักลงทุน และพนักงาน ผู้บริหาร
          
"การแบ่งส่วนตรงนี้จะทำให้เกิดช่องว่างที่เป็นปัญหาเรื่องตัวแทน ทำให้การดำเนินธุรกิจจำเป็นต้องมีคณะกรรมการบริษัทเพื่อกำกับดูแล และรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น ขึ้นมา ทำให้กรรมการบริษัท และผู้บริหาร มีบทบาทหน้าที่ต่างกัน ที่ผ่านมาการออก CG Code จะเน้นผลลัพธ์ที่เกิดประโยชน์กับผู้ถือหุ้น (Shareholders) เป็นหลัก"
          
"แต่ด้วยสถานการณ์แวดล้อมที่เปลี่ยน แปลงไป ที่มีเรื่องซีเอสอาร์ และความยั่งยืนเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงทำให้ CG Code มีการขยายความดูแลจากผู้ถือหุ้น ไปสู่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) และตรงนี้เองถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของ CG Code เช่นเดียวกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีฉบับใหม่ที่ออกโดย ก.ล.ต.นี้ เป็นเหมือนการรื้อโครงสร้างใหม่ เพื่อให้เกิดการสร้างคุณค่าความยั่งยืนที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นทาง ไม่ใช่เพียงแค่ไปสอดแทรกไว้ระหว่างกระบวนการเท่านั้น"
          
"ดร.พิพัฒน์" กล่าวเพิ่มเติมว่า หากวิเคราะห์ CG Code ฉบับใหม่ จะมี Keyword 3 ตัวหลัก ๆ คือ 
1) Central Idea ที่เป็นความคิดหลักของ องค์กร ภายใต้องค์ประกอบของวัตถุประสงค์ และบทบาทหน้าที่ของบริษัทที่มีการเปลี่ยน แปลงไป โดยผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่ที่ ผู้ถือหุ้นเพียงอย่างเดียว แต่ยังครอบคลุมไปถึง Stakeholders ต่าง ๆ
2) Define and Achieve ที่เป็นกลยุทธ์ที่จะมารองรับ Central Idea และเมื่อความคิดหลักขององค์กรเปลี่ยนแปลงไป ทำให้บทบาทคณะกรรมการต้องมองไปถึง Stakeholders ต่าง ๆ โดยมีการกำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหา การเยียวยา และการป้องกัน เพื่อเกิดการกำกับดูแลกิจการให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย
และ 3) Apply or Explain ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ได้มีการบรรจุไว้ โดยการนำไปใช้นั้นไม่ใช่การบังคับเพื่อทำตามหลักการ แต่เป็นการให้องค์กรนำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารกิจการ โดยใช้ดุลพินิจในการปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทขององค์กรนั้น ๆ และหากเห็นว่าหลักการข้อไหนที่ดำเนินการไม่ได้ หรือไม่ได้ดำเนินการ ต้องมีการอธิบายถึงเหตุผล และหากมีแผนงานที่จะทำต่อไปก็ให้ระบุไว้ในรายงานการประชุม
          
"แม้ว่า CG Code เดิมที่ใช้อยู่คือ CG Scoring จะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาโดยตลอด และโดยเฉพาะ ASEAN CG Scorecard ที่มีคะแนนเพิ่มขึ้นทุกปีก็ตาม แต่ ในประเด็นหนึ่งที่ บจ.ยังทำได้ไม่ดี คือความรับผิดชอบของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับ Stakeholders และการให้ความสำคัญกับเรื่อง ของสังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรื่องเหล่านี้ บริบทโลกถือว่ามีความเข้มข้นเพิ่มมากขึ้น"
          
ดังนั้นการที่จะพัฒนาให้ บจ. มีมาตรฐานที่ดีขึ้นในเรื่องของการกำกับดูแลกิจการที่ดี และสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดด จึงต้องมีการปรับเปลี่ยน CG Code เพื่อให้ตอบรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

อันเป็นหลักการในการนำธุรกิจไปสู่การเติบโตด้วยการสร้างคุณค่ากิจการอย่างยั่งยืนในทุกมิติอย่างครอบคลุม

- -สำนักข่าว ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 22 พฤษภาคม 2560 - -